เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. มุณฑราชวรรค 7. ธนสูตร
7. ธนสูตร
ว่าด้วยทรัพย์
[47] ภิกษุทั้งหลาย ธนะ(ทรัพย์) 5 ประการนี้
ธนะ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สัทธาธนะ (ทรัพย์คือศรัทธา)
2. สีลธนะ (ทรัพย์คือศีล)
3. สุตธนะ (ทรัพย์คือสุตะ)
4. จาคธนะ (ทรัพย์คือจาคะ)
5. ปัญญาธนะ (ทรัพย์คือปัญญา)
สัทธาธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคต
ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ1 เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาธนะ
สีลธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ2 เว้นขาด
จากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย3อันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า
สีลธนะ
สุตธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต ฯลฯ4 แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้เรียกว่า
สุตธนะ

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในข้อ 2 (วิตถตสูตร) หน้า 2-3 ในเล่มนี้
2 ดูความเต็มในข้อ 32 (จุนทีสูตร) หน้า 49 ในเล่มนี้
3 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 32 หน้า 49 ในเล่มนี้
4 ดูความเต็มในข้อ 87 (สีลวันตสูตร) หน้า 155 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :76 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 5. มุณฑราชวรรค 7. ธนสูตร
จาคธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม1 ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการ
แจกทาน นี้เรียกว่า จาคธนะ
ปัญญาธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาธนะ
ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ 5 ประการนี้แล
ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในตถาคต
มีศีลงาม เป็นศีลที่พระอริยใคร่ (และ)สรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในสงฆ์ และมีความเห็นตรง
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นคนไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาไม่สูญเปล่า’
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส
และการเห็นธรรม2
ธนสูตรที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 มีฝ่ามือชุ่ม อรรถกถาอธิบายว่า ถ้าคนไม่มีศรัทธา แม้จะล้างมือถึง 7 ครั้ง ก็ชื่อว่ามีมือยังไม่ล้าง มีมือสกปรก
แต่คนมีศรัทธา แม้มีมือสกปรก ก็ชื่อว่าได้ล้างมือสะอาดแล้ว (องฺ.ติก.อ. 2/42/148)
2 การเห็นธรรม ในที่นี้หมายถึงเห็นอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/52/349)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :77 }